หนอนรถด่วนแสนอร่อย
หนอนรถด่วน หรือ Bamboo Caterpillar เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ซึ่งตัวหนอนกินเยื่อไผ่เป็นอาหาร ชาวจีนฮ่อเรียก จูซุง คนพม่าเรียก ลาโป้ว และชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า คลีเคล๊ะ ส่วนคนไทยเรียกว่าหนอนรถด่วน เพราะ ตัวหนอนมีรูปร่างลักษณะคล้ายโบกี้รถไฟนั่นเอง หนอนรถด่วนเป็นหนอนผีเสื้อที่มีวงจรชีวิตที่ยาวนานถึงหนึ่งปีเต็ม เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ผีเสื้อจะจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝนจากนั้นเพศเมียก็จะวางไข่บนหน่อไม้เมื่อตัวอ่อนฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปอยู่ในหน่อไม้เพื่อกินเยื่อไผ่เป็นอาหารหนอนจะผ่านการลอกคราบถึง 5 ครั้งใช้เวลา ถึง 10 เดือน จากนั้นจะเข้าสู้ระยะดักแด้เพื่อเปลี่ยนสรีระร่างกายประมาณ 40 – 60 วัน และลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัยในที่สุด ผีเสื้อมีอายุ 1 – 2 สัปดาห์ ไผ่ที่พบหนอนรถด่วน ได้แก่ ไผ่ซาง ไผ่หก ไผ่บง ไผ่ไร่รอ และไผ่สีสุก พบที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 430 – 1300 เมตร ชาวไทยภาคเหนือนิยมบริโภคหนอนรถด่วนมายาวนาน วิธีนำไปประกอบอาหารได้แก่ ต้ม ทอด ตำน้ำพริก การศึกษา พบว่า จากการบริโภคหนอนรถด่วนนี้จะได้รับสารอาหารประเภทโปรตีนจำพวกกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย 8 ชนิด และที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายอีก 9 ชนิด ดังนี้
ประเภทกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ตามน้ำหนัก ได้แก่ ทรีโอนีน 1.15% ซีสตีน 0.28% วาลีน 1.60% เมธิโอนีน 0.66%ไอโซลิวซีน 0.94% ลิวซีน 2.05% เฟนิวอะลานีน 0.63% และไลซีน 1.66%
ประเภทกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ ทรีโอนีน 1.15% เซรีน 1.84% กลูตามิก 2.96% โปรลีน 1.46% ไกลซีน 1.01% อะลานีน 1.24% และอาร์จีนีน 1.22%
การสังเกตต้นไผ่ที่มีหนอนรถด่วนตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยดูว่า ต้นไผ่ต้นใดมีขนาดปล้องค่อนข้างสั้น และหากสังเกต จะพบรูเล็กๆ ที่โคนของไผ่ประมาณปล้องที่ หนึ่งหรือ ปล้องที่สอง ซึ่งเป็นรูที่ตัวเต็มวัยจะออกมาเมื่อกลายเป็นผีเสื้อ จึงมั่นใจได้ว่าไผ่ลำนี้มีหนอนรถด่วนอยู่แน่นอน